วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ส่งของจาก Toulouse ไป Bangkok

โดย พี่ เอ้ ( Ae Kiatmanaroj ) ครับ

เท่าที่ผมหาข้อมูลการส่งของกลับทางเรือนั้นจะคิดอัตราตามระวางขนส่งขั้นต่ำที่
1 ตัน ตอนที่ผมกลับผมไม่ได้ส่งทางเรือเพราะน้ำหนักรวมไม่ถึง
เลยเลือกการส่งทางเครื่องบินแทน โดยการส่งทางเครื่องบิน (air freight)
นั้นปกติจะคิดราคาตาม

1. น้ำหนักและปริมาตรของพัสดุแต่ละชิ้น
2. น้ำหนักรวม
3. จำนวนกล่อง
4. บริการอื่นๆ เช่นการรับของ ส่งของ

บริษัทที่ให้บริการขนส่งนั้นมีตั้งแต่ระดับราคาถูก (pyretransit.fr)
ถึงแพง (agsmover.com) โดยราคาที่ผมเคยเช็คจะต่างกันเกือบห้าเท่า
อย่างถูกคือขนของไปส่งที่สนามบิน Blangac เอง
และเคลียร์ของออกจากสุวรรณภูมิเอง อย่างแพงคือมีคนมาสำรวจของ และเสนอราคา
(ไม่เสียค่าบิรการ) ที่ที่พัก และบริการรับของที่หอพัก
ตลอดจนจัดการส่งถึงที่อยู่ที่ไทย

ผมใช้บริการส่งของของ pyretransit โดยไปส่งของเองที่ Blangac
และรับของเองที่สุวรรณภูมิ สรุปแล้วส่งของกลับประมาณ 230 กก. คิดเป็นค่า
freight กก.ละ ประมาณ 2.7 ยูโร (ยิ่งส่งมาก ราคาต่อกิโลจะยิ่งถูกลง)

ขั้นตอนการส่งของ
1. โทรไปติดต่อกับบริษัทเพื่อสอบถามราคา หรือขอใบเสนอราคา (ถ้ามี)
2. โทรนัดวันส่งของ (หรืออาจจะให้มารับของที่ที่พัก
ซึ่งราคาค่าบริการจะต่างกัน ต้องถามรายละเอียด)
ผมจะอธิบายต่อไปในส่วนที่นำของไปส่งเองที่สนามบิน
3. นำของไปส่งตามวันนัด โดยแนะนำให้เป็นช่วงเช้าไม่เกินสิบโมง หรือช่วงบ่ายต้น
4. ยังไม่ต้องเอาของลงจากรถ ให้ไปติดต่อกับทางบริษัทก่อน
ซึ่งบริษัทส่งของจะอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า cargo zone ของสนามบิน
ถ้าขับรถมาเองเมื่อเลี้ยวเข้าสนามบิน
ให้เลี้ยวออกที่วงเวียนแรกทางออกที่สองถ้าจำไม่ผิด
(ทางออกที่หนึ่งจะเข้าไปที่ส่วนผู้โดยสารขาออกและเข้า)
บริษัทจะให้กรอกเอกสารว่ของอะไรบ้างคร่าวๆ
ส่วนใหญ่แล้วจะกรอกเป็นของใช้ส่วนตัว (personal effects)
ซึ่งแบบฟอร์มนี้จะใช้สำหรับเคลียร์ของออกที่สุวรรณภูมิ
(เรียกรวมเอกสารส่งของว่า airway bill) ไม่แนะนำให้ส่งยา
และเครื่องสำอางค์กลับ เพราะต้องติดต่ออ.ย.(อาหารและยา)
ที่สุวรรณภูมิเพื่อขออนุญาตนำเข้า และต้องเสียภาษีในพิธีการศุลกากรขาเข้า
 อนึ่งการนำเข้าเครื่องกีฬาเป็นชิ้น ไม่ว่าใหม่หรือเก่า
ก็ต้องแจ้งและเสียภาษีอากรขาเข้า ขั้นตอนนี้ต้องนำพาสปอร์ตไปด้วย
บริษัทจะถามว่าจะให้ส่งของถึงวันไหน
5. บริษัทจะกำหนดจุดเอาของลง เพื่อวัดขนาดและชั่งนำหนักรวม สามารถขอรถตัก
(fork lift) มาช่วยขนได้
6. หลังจากชั่งน้ำหนักแล้ว ต้องนำของทุกชิ้นผ่านเครื่อง x-ray
เจ้าหน้าที่จะตรวจอย่างละเอียด
ถ้ามีข้อสงสัยเจ้าหน้าที่จะขอให้เปิดกล่องออกตรวจ
ข้อแนะนำในการแพ็คของที่สำคัญคือ ห้ามมีของที่ติดไฟง่าย
หรือเสี่ยงต่อการระเบิดทุกชนิด เช่นน้ำหอม หรือขวดแก๊ส
ห้ามมีของที่เป็นน้ำ
และต้องถอดแบตเตอรี่ออกจากอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ทุกชิ้น
(ส่งแบตเตอรี่ไปได้ แต่ต้องไม่ต่อให้ครบวงจร)
ห้ามมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ไม่ได้ผ่านการแพ็คอย่างดี
(ผมเคยโดนห้ามส่งเม็ดกาแฟ เพราะที่ถุงที่ซื้อจากห้างมีรูระบายอากาศ)
แนะนำว่าให้เตรียมเทปกาว และคัตเตอร์ สำหรับเปิดและปิดกล่องด้วย
ขั้นตอนนี้ใช้เวลานาน นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมต้องไปติดต่อเช้า หรือบ่ายต้นๆ
7. กลับไปจ่ายเงินค่าส่งของที่บริษัท
บริษัทจะให้รายละเอียดสายการบินที่รับส่งของ เบอร์ติดต่อ
และวันที่กำหนดถึง (บางครั้งไม่ตรง
ต้องโทรไปเช็คกับสายการบินที่ส่ของก่อนออกไปรับของที่สุวรรณภูมิ)
สามารถจ่ายเงินได้สองแบบคือการ์ด และเงินสด ไม่รับเช็ค

ขั้นตอนที่สนามบินขาเข้าไทย
1. ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ให้ใช้ช่องที่ไม่ใช่อิเลคโทรนิคส์
เพราะต้องมีตราประทับขาเข้าที่หนังสือเดินทางเท่านั้นถึงจะใช้เคลียร์ของในพิธีการศุลกากรได้
ถ้าเผลอหรือไม่รู้อย่างผม
ในวันที่เคลียร์ของต้องไปที่ตม.สนามบินอีกรอบเพื่อขอตราประทับ
(เสียเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง) ให้ถ่ายเอกสารหนังสือเดินทางหน้าที่มีรูป
หน้าที่มีตราประทับเดินทางเข้าออกไทย ตลอดทุกช่วงเวลาเรียนต่อ
ถึงวันกลับครั้งสุดท้าย จำนวนสามชุด
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะนำไปคำนวณหาระยะเวลาทั้งหมดที่อยู่ต่างประเทศว่าเข้าเกณฑ์การย้ายกลับจากต่างประเทศหรือไม่
(น่าจะรวมระยะเวลาเกินหนึ่งปี) ถ้ามีหนังสือเดินทางสองเล่ม
แนะนำให้นำเล่มเก่าไปด้วย
เผื่อว่าคำนวณแล้วระยะเวลาอยู่ต่างประเทศในเล่มใหม่ไม่เพียงพอ

ขั้นตอนการเคลียร์ของ
1. ต้องใช้รถกระบะ หรือรถบรรทุกเท่านั้น ถึงจะสามารถเข้าไปติดต่องานได้
2. แนะนำให้ไปติดต่อตั้งแต่แปดโมงเช้า โดยโทรศัพท์ไปถามทางบริษัท
(สายการบิน และ cargo) ก่อนว่าจะต้องไปติดต่อที่ไหน
โดยปรกติแล้วของจะเข้าไปพักที่ cargo การบินไทย ผมจะอธิบายต่อในส่วนของ
cargo การบินไทย
3. ไปที่ทางเข้า cargo การบินไทย (เรียกกันทั่วไปว่า ประตูหนึ่ง)
ให้จอดรถในที่จอดชั่วคราว ด้านซ้ายหลังจากผ่านป้อม
โดยบอกป้อมว่ามาทำบัตรเข้าพื้นที่ชั่วคราว
4. ไปทำบัตรเข้าพื้นที่ กรอกเอกสารใบเดียวต่อรถหนึ่งคัน
ต้องเตรียมบัตรประชาชนไปด้วย (หรือพร้อมสำเนา)
ต้องทำบัตรทุกคนที่เข้าพื้นที่ ค่าใช้จ่ายคนละ 27 บาท
ทำหนึ่งครั้งใช้ได้นาน 3 วันทำการ
ในวันที่ผมไปติดต่อนั้นในบริเวณที่ทำบัตรจะมีนายหน้ามาเสนอบริการเคลียร์ของให้
ซึ่งคิดราคาหลักหมื่น ผมตอบปฏิเสธ
5. เปิดประตูท้ายรถขนของ เตรียมไว้ก่อนเข้าพื้นที่
เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจว่าไม่นำของเข้าพื้นที่ที่จุดตรวจก่อนเข้า cargo
6. ขับรถเข้า cargo จะเห็นอาคารใหญ่ๆยาวๆด้านขวามือ ให้ขับไปจอดประมาณ
2/3 ของความยาวอาคาร แล้วถามเจ้าหน้าที่ว่า จะติดต่อออก D.O.
การบินไทยได้ที่ไหน
7. แลกบัตร ขึ้นไปชั้นสอง ที่สำนักงานออกเอกสาร  D.O.
(ชั้นสองทางด้านซ้าย) กดบัตรคิว และรอเรียก
8. เจ้าหน้าที่จะถามรายละเอียดของ และให้เอกสาร D.O. ซึ่งมี airway bill
ของเราอยู่ในนั้น ให้ตรวจสอบให้ตรง เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ไปอาคารศุลกากร
ชั้นที่ติดต่อ และเจ้าหน้าที่ต้องติดต่อ
9. ไม่จำเป็นต้องแลกบัตรคืน เพราะต้องกลับมาอีกรอบ
10. ขับรถเปล่าออกจาก cargo ไปยังอาคารศุลกากร
ที่อาคารจะมีนายหน้ามาเสนอเป็นที่ปรึกษากรอกเอกสารและพาเดินเรื่องพิธีการศุลกากรให้
ถ้าราคารับได้ ก็สามารถใช้บริการที่ปรึกษาได้ ผมไม่ได้ใช้บริการ
(ผมใช้เวลาเคลียร์ของทั้งหมด จากประมาณแปดโมงเช้า ถึงหกโมงเย็น
และต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้เจ้าหน้าที่)
11. ทำเอกสารตามพิธีการศุลกากร ถ้ามีของที่ต้องสำแดง หรือขออนุญาตนำเข้า
ต้องใช้เวลานาน เช่นผมมีแป้งรองพื้นสองตลับ ลิปสติกอีกสอง
ซึ่งจริงๆแล้วถ้ามีเครื่องสำอางค์
ทางเจ้าหน้าที่จะให้ไปติดต่อที่สำนักงานอาหารและยา
ที่อาคารห่างไปประมาณห้าร้อยเมตร และรอทำเรื่องประมาณสองชั่วโมงครึ่ง
เพราะคิวยาวมาก (กรอกเอกสารจริงๆสามนาที)
12. ถ้าไม่เคยทำเรื่องนำของออก ต้องไปยื่นเรื่องขอเข้าระบบ (เขียนคำร้อง
และให้สำเนาบัตรประชาชน) ที่ชั้น 2 อาคารศุลกากร
หมายเหตุที่ชั้นล่างใกล้ๆ 7-11 จะมีบริการถ่ายเอกสาร
13. เดินเรื่องเอกสาร และเสียภาษีอากรขาเข้าตามเกณฑ์
14. นำเอกสารทั้งหมด ไปติดต่อนำของออกที่ cargo โดยขับรถเปล่าเข้าไปอีกรอบ
15. ติดต่อสำนักงานชั้นสอง ทางด้านขวา
เพื่อจ่ายค่าเก็บรักษาสินค้าชั่วคราวที่อาคารคลังสินค้า (cargo)
16. นำเอกสารทั้งหมด
มาติดต่อที่ห้องด้านล่างเพื่อขอเอาของออกจากคลังมาพัก เพื่อรอการตรวจสอบ
ขั้นตอนนี้จะต้องกรอกเอกสารใบปิดหน้า ปั๊มตรายางที่โต๊ะในห้อง
กรอกรายละเอียดอื่นๆ ถ้าไม่ทราบให้ถามจากเพื่อนๆคนที่มาทำเรื่อง
ซึ่งส่วนใหญ่จะเชี่ยวชาญ
17. รอเจ้าหน้าที่ที่ห้องตรวจเอกสาร และให้รายละเอียดเลขบอกตำแหน่งสินค้า
18. นำรายละเอียดตำแหน่งไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่รถตัก
รถตักจะนำสินค้าไปตำแหน่งที่ใกล้กับสำนักงานศุลกากรในคลังสินค้า
เพื่อรอการตรวจสอบ
19. ยื่นเรื่องที่สำนักงานศุลกากรในคลังสินค้า เพื่อรอการตรวจสอบ
20. หลังจากผ่านการตรวจสอบ ก็สามารถขนสินค้าลงรถได้
21. ออกจากอาคารคลังสินค้า โดยเข้าใช้ช่องได้ช่อง 1 หรือ 2 จากซ้าย
22. หลังจากผ่านช่วงตรวจ อาจจะโดนสุ่มตรวจอีกรอบที่หลังช่องตรวจ
23. เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

ผมจ่ายค่าพิธีการศุลกากร ค่า cargo ค่าล่วงเวลา และอื่นๆ
รวมแล้วประมาณหนึ่งพันบาท (ไม่รวมค่าภาษี)

เจ้าหน้าที่ศุลกากรให้ความสะดวก และเป็นมิตรมากครับ
เพียงแต่มีขั้นตอนเยอะเท่านั้น ถ้าไม่ต้องติดต่อ อย.
หรือจ่ายภาษีเครื่องสำอางค์อย่างผม ก็ลดขั้นตอนลงไปได้เยอะครับ

โดย พี่ เอ้ ( Ae Kiatmanaroj ) ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: