วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Wireless Network Solutions (ตอนที่ 1)


วันนี้ กลับมาเขียนบันทึกเกี่ยวกับพวกเทคโนโลยีไร้สาย กันบ้าง

เทคโนโลยีไร้สาย คือการส่งข้อมูลโดยไม่ใช้สาย แต่ใช้ตัวกลางอื่น เช่น คลื่นวิทยุ หรือ แสง ข้อมูลลอยไปในอากาศ และเป็นที่นิยมใช้กันมากขึ้น เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในส่วนของ Internet of Things (IoTs) ซึ่งสามารถนำมาใช้ในงาน Machine-to-Machine (M2M) ที่จำเป็นจะต้องใช้การติดต่อไร้สาย เพราะทำได้ง่าย สะดวกกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อสื่อสารกับอุปกรณ์ที่มีการเคลื่อนที่ ยิ่งจำเป็นต้องใช้การติดต่อสื่อสารแบบไร้สาย

เทคโนโลยีที่เราคุ้นเคยและได้ยินกันอยู่แล้ว

Bluetooth หรือ IEEE 802.15.1 ปัจจุบัน มาตรฐานของ Bluetooth ถูกกำหนดโดย SIG (IEEE หยุดปรับปรุง 802.15.1 แล้ว)  เป็นเทคโนโลยีไร้สายระยะใกล้ ที่มีใช้งานกันแพร่หลาย เช่นหูฟัง Bluetooth การเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ ใน Bluetooth version 4 มี Bluetooth Low Energy (BLE) หรือ Bluetooth Smart ที่เพิ่มมา ทำให้ใช้งานได้นานขึ้น ประหยัดพลังงาน มีใช้งานแพร่หลายโดยเฉพาะอุปกรณ์ออกกำลังกาย

WiFi หรือ IEEE 802.11 (a/b/g/n/ac) อันนี้หลาย ๆ คนคงรู้จักกันดี ทำงานที่ความถี่ 2.4, 5, 60 GHz แล้วแต่มาตรฐาน ปัจจุบันอุปกรณ์ WiFi module มีราคาถูกลงมาก อย่างเช่นพวก ESP8266  หรือที่ build-in ใน NodeMCU ทำให้ concept ของ IoTs ขยับใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ WiFi คือสามารถ Link กับ Network Layer ได้ง่าย ใช้งาน TCP/IP ตั้ง web server เองได้สะดวก ซึ่ง IoTs ของ Cisco ในตอนนี้ก็ออกแบบมาให้ใช้กับ WiFi เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดี WiFi ก็อาจจะไม่ใช่เทคโนโลยีเดียวใน IoTs ที่ถูกเลือก

ZigBee หรือ IEEE 802.15.4 มีจุดเด่นคือกินกำลังไฟต่ำ ใช้งานกับแบตเตอรี่ได้นาน ออกแบบมาเพื่อใช้ในการติดต่อระหว่างเครื่อง (M2M) มีราคาไม่แพง ถูกนำไปใช้แพร่หลายในวงการอุตสาหกรรม การเชื่อมต่อของ ZigBee จะเป็นลักษณะของ Mesh Network หมายถึงทุกโหนดสามารถเชื่อมต่อกันเองหลาย ๆ ตัวได้พร้อมกัน หากเปรียบเทียบกับ WiFi พบว่าระยะการเชื่อมต่อของ ZigBee ไกลกว่า WiFi และ แบตเตอรี่ใช้ได้นานกว่า WiFi และเป็นระบบเครือข่ายแบบ Self-Organized ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางที่ควบคุมการเชื่อมต่อทั้งหมด แต่แลกมาด้วยความเร็วในการส่งข้อมูลที่ช้ากว่า WiFi และมีการบริหารจัดการเชื่อมต่อที่มากขึ้น

WiMax หรือ IEEE 802.16 สามารถส่งข้อมูลในระยะไกล ที่ความเร็ว 30-75 Mbps (ขึ้นกับโหมดที่ใช้งาน)  WiMax ถูกนำมาใช้งานโดยผู้ให้บริการคลื่นโทรศัพท์มือถือ โดยมีการแข่งขันกับ LTE 4G (มาทีหลัง) แต่มีแนวโน้มว่า LTE 4G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดีกว่ามาแทนที่

บทความต่อไป เราจะมาดูเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามาครับ (ตอนที่ 2 | ตอนที่3)

Updated: 4 ส.ค. 59